เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจากทั่วโลกได้ออกกฎหมายและข้อบังคับด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม โดยในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้ออกกฎใหม่ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเตือนลูกค้าถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต
พร้อมกันนี้ ผู้ให้บริการจะต้องแสดงข้อความเตือนให้เห็นชัดเจน และก่อนที่ลูกค้าจะเข้าใช้บริการ ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องให้ผู้ใช้บริการยินยอมและรับทราบความเสี่ยง นอกเหนือจากนั้นแล้ว หลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. ยังห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลใช้เงินทุนของลูกค้าเพื่อให้กู้ยืมหรือลงทุนด้วยเช่นกัน
ประเทศสิงคโปร์ก็มีการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดยองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ได้ประกาศข้อกำหนดใหม่ที่จะบังคับให้ผู้ให้บริการคริปโตถือครองสินทรัพย์ของลูกค้าผ่านกองทรัสต์ที่จัดตั้งตามกฎหมายก่อนสิ้นปี 2023 นี้
MAS กล่าวว่า “สิ่งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญหายหรือการใช้สินทรัพย์ของลูกค้าในทางที่ผิด และอำนวยความสะดวกในการกู้คืนทรัพย์สินของลูกค้าในเหตุการณ์การล้มละลายของผู้ให้บริการโทเคนชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital Payment Token: DPT)”
ด้านหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของประเทศแอฟริกาใต้อย่าง Financial Sector Conduct Authority (FSCA) ก็ได้ประกาศว่า แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตทุกแพลตฟอร์มในประเทศจะต้องขอรับใบอนุญาตการดำเนินการภายในช่วงสิ้นปี 2023 หากมีแพลตฟอร์มใดที่ดำเนินการต่อโดยปราศจากใบอนุญาตหลังช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ทาง FSCA ก็จะดำเนินการทางกฎหมายกับแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเสียค่าปรับหรือการปิดบริษัทคริปโตที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว
ในประเทศเบลารุส กระทรวงการต่างประเทศก็กำลังแก้ไขกฎหมายที่จะห้ามไม่ให้มีการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลโดยตรง (Peer-to-Peer: P2P) สำหรับสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) โดยให้เหตุผลว่า บริการแบบ P2P สำหรับคริปโตเป็นที่นิยมในกลุ่มมิจฉาชีพที่ถอนเงินสดออกมาและแปลงเงินที่ถูกขโมยมาให้เป็นคริปโตเพื่อโอนเงินก้อนดังกล่าวไปยังผู้ที่อยู่เบื้องหลังแผนอาชญากรรมต่าง ๆ
ในประเทศออสเตรเลีย หน่วยงานกำกับดูแลท้องถิ่นอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และการลงทุนของออสเตรเลีย (Australian Securities and Investments Commission: ASIC) ก็ได้สืบสวน Binance Australia แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตของ Binance ในออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า ASIC ได้เข้าตรวจค้นสำนักงานของ Binance Australia
ทาง Binance Australia ไม่ได้ออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่า การตรวจค้นดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือบริษัททราบถึงการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งทางโฆษกของ Binance Australia เปิดเผยว่า “เรากำลังร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น และ Binance มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการกำกับดูแลท้องถิ่นเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ของเราในออสเตรเลียอย่างสอดคล้องตามกฎระเบียบโดยสมบูรณ์”
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินในประเทศเดนมาร์ก (Danish Financial Supervisory Authority: DFSA) ก็ได้มีความเคลื่อนไหวด้านคริปโตเช่นกัน โดยทางหน่วยงานได้ประกาศให้ Saxo Bank ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนในประเทศ วางมือจากคริปโตที่ทางธนาคารถือครองเอาไว้ ซึ่ง DFSA ระบุว่า Saxo Bank ให้บริการกองทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange-Traded Fund) และพันธบัตรที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับคริปโตหลายรายการ พร้อมเสริมว่า อาจเกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์คริปโตได้