สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อให้มีกลไกคุ้มครองนักลงทุนที่เพียงพอและเหมาะสมกับความเสี่ยง พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดการลงทุนในโทเคนดิจิทัลของนักลงทุนรายย่อยด้วยการยกเลิกการจำกัดการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในโทเคนดิจิทัลที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (Real-Estate Backed ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (Infra-Backed ICO) จากเดิมที่มีการจำกัดจำนวนเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อยไม่เกินรายละ 300,000 บาทต่อการเสนอขายทุกกรณี
นอกจากการยกเลิกเพดานเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อยดังกล่าวแล้ว ก.ล.ต. ยังได้เสนอหลักเกณฑ์ที่ปรับใหม่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจอื่นต้องมาขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจอื่นจากทางหน่วยงานก่อน และการพิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodial Wallet Provider) เพื่อให้สามารถเปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกันจากการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกันได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=893 โดยผู้ที่สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปร่วมแสดงความเห็นกันได้จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2023
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก.ล.ต. เพิ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างกฎเกณฑ์กำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตที่จะแบนบริษัทคริปโตจากการให้บริการหรือการมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการให้กู้ยืมหรือการค้ำประกัน (Staking) ด้วยคริปโต ขณะที่ก่อนหน้านั้นในเดือนมกราคม ก.ล.ต. ได้ประกาศหลักเกณฑ์สำหรับบริการรับฝากคริปโต โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจะต้องติดตั้งระบบจัดการกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อรับรองความปลอดภัยให้กับสินทรัพย์ของลูกค้า