เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่หนังสือฉบับใหม่ที่แจ้งเตือนถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการคุ้มครองนักลงทุนจากความเสี่ยงของบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโต

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ประกอบธุรกิจสกุลเงินคริปโตเปิดเผยคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการซื้อขายสกุลเงินคริปโต และห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอหรือสนับสนุนบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (Deposit Taking & Lending) 

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานจึงได้จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับทั้งสองเรื่องดังกล่าวโดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. การเปิดเผยคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการซื้อขายสกุลเงินคริปโต ก.ล.ต. จะบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต นายหน้าซื้อขายสกุลเงินคริปโต และผู้ค้าสกุลเงินคริปโตแจ้งเตือนความเสี่ยงที่เป็นไปได้จากการซื้อขายสกุลเงินคริปโตอย่างชัดเจน โดยพวกเขาจะต้องระบุตามข้อความนี้ “คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง โปรดศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรอบด้าน เพราะท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน” นอกจากนี้ พวกเขาจะต้องแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมของการลงทุน รวมถึงมีการแบ่งสันปันส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสม (Basic Asset Allocation) ก่อนเสนอบริการให้ลูกค้าด้วย ทั้งนี้ ลูกค้าจะต้องให้ความยินยอมเพื่อรับทราบความเสี่ยงดังกล่าวถึงจะใช้บริการได้ โดยจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

  1. การห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอหรือสนับสนุนการให้บริการ Deposit Taking & Lending โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 2.1) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์เหล่านั้นไปลงทุนหรือให้กู้ยืมเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้า 2.2) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเสนอว่าจะมอบผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า (เช่น จากงบการตลาดของบริษัท) ยกเว้นว่ามีลักษณะที่เป็นการส่งเสริมการขายตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดย ก.ล.ต. 2.3) ห้ามโฆษณา ชักชวน หรือกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการสนับสนุนการให้บริการตาม ข้อ 2.1) และ 2.2) ของผู้ให้บริการหรือบุคคลอื่น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ในช่วงภาวะตลาดหมีเมื่อปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตด้านการให้กู้ยืมครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมคริปโต โดยมีบริษัทผู้ให้บริการกู้ยืมคริปโตหลายรายล้มละลายในช่วงเวลาดังกล่าว ว่ากันว่า บริษัทเหล่านี้มีสินทรัพย์ที่ลูกค้าเอามาฝากไว้เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว เนื่องจากพวกเขาหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการฝากสินทรัพย์ของตน โดยการล้มละลายของบริษัทผู้ให้กู้ยืมคริปโตชั้นนำอย่าง Celsius และ BlockFi ทำให้สินทรัพย์ของลูกค้าติดอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลาย