สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้เข้าร่วมประชุมเวทีระดับนานาชาติประจำปีอย่าง งานประชุมประจำปีขององค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ในระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2565 ณ เมือง Marrakech ประเทศโมร็อกโก

ซึ่งในวันที่ 17 ตุลาคมนั้น รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ประเทศไทย พร้อมทั้งผู้บริหารก็ได้ไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Commitee: APRC) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศสมาชิกในประเด็นที่สำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน APRC และทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อกำหนดมาตรฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน (2) แนวทางการกำกับดูแลและการออกกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อป้องกันการแบ่งแยกย่อยของตลาด (Market Fragmentation) และ (3) เทคโนโลยีการเงิน 

ในการประชุม APRC สมาชิกหลายประเทศก็ได้ให้ความสนใจในประเด็นการคุ้มครองนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายสกุลเงินคริปโต โดยรื่นวดีได้แลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาการด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งล่าสุดได้มีการทำประชาพิจารณ์เรื่องการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลที่ 5,000 บาท รวมถึง ยังมีการยกระดับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย

นอกจากนี้ ณ ที่ประชุม APRC หน่วยงานสมาชิกทั้ง 12 หน่วยงาน รวมถึง ก.ล.ต. ประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการกำกับดูแลของ APRC (APRC Supervisory Memorandum of Understanding) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือใหม่ในภูมิภาคที่สำคัญ และเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานสมาชิกอีกด้วย โดยมุ่งที่จะยกระดับการกำกับดูแลระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น

หน่วยงานสมาชิก 12 หน่วยงานที่ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และการลงทุนของออสเตรเลีย (ASIC), หน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินญี่ปุ่น (FSA), กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF), กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์มาเลเซีย (SC), สำนักงานคณะกรรมการกำกับการเงินมองโกเลีย (FRC), หน่วยงานตลาดการเงินนิวซีแลนด์ (FMA), คณะกรรมการกำกับการเงินไต้หวัน (FSC), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย (SEC), ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฮ่องกง (SFC) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์บังกลาเทศ (BSEC)