สำนักข่าว Reuters ระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา ภาคโรงงานของจีนเติบโตขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการหนุนความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2023 ได้มีการเผยแพร่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ในภาคการผลิตของจีนซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 52.6 ในเดือนกุมภาพันธ์จาก 50.1 ในเดือนมกราคม ในขณะที่ข้อมูลของสหรัฐฯ และยุโรปเน้นย้ำว่า อัตราเงินเฟ้อของทั้ง 2 ภูมิภาคยังไม่อยู่ภายใต้การควบคุม

ด้าน Duncan Wrigley หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทผู้ให้บริการด้านการวิจัยและคำปรึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคอย่าง Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า “ดัชนี PMI ของจีนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิด และกลับมาดำเนินกิจกรรมอีกครั้งหลังวันหยุดตรุษจีน” อีกทั้งยังเสริมว่า “นี่เป็นชุดข้อมูลที่สร้างความหวัง แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้นและความท้าทายก็ยังคงอยู่”

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเน้นย้ำว่า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนสามารถกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกผ่านความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ ถึงกระนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนจะส่งผลต่อราคาพลังงานประเทศอื่นได้มากขนาดไหน เนื่องจากผลกระทบด้านเงินเฟ้อจากความต้องการด้านพลังงานที่สูงขึ้นอาจถูกชดเชยด้วยอุปทานสินค้าที่เพิ่มขึ้นสู่เศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน การผลิตในสหรัฐฯ ก็หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่มีสัญญาณว่า การดำเนินงานของโรงงานเริ่มมีเสถียรภาพ โดยมีปริมาณคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบนานกว่า 2 ปีครึ่ง ซึ่งสถาบันจัดการอุปทาน (The Institute for Supply Management: ISM) กล่าวว่า PMI ภาคการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นมาเป็น 47.7 จาก 47.4 ในเดือนมกราคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของ Reuters คาดการณ์ว่า ดัชนี PMI จะเพิ่มขึ้นเป็น 48.0 ซึ่งค่าที่ต่ำกว่า 50 จะบ่งชี้ถึงการหดตัวในภาคการผลิตซึ่งคิดเป็น 11.3% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ แม้อุปสงค์จะลดลงและอุปทานจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงขึ้น โดยราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตพุ่งสูงขึ้นมากในเดือนมกราคม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อาจยังคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการสำรวจราคาที่ผู้ผลิตจ่ายของ ISM พบว่า ตัวเลขพุ่งขึ้นสู่ระดับ 51.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 44.5 ในเดือนมกราคม โดย Andrew Hunter รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จาก Capital Economics บริษัทผู้ให้ข้อมูลเชิงลึกทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า "การดีดตัวกลับขึ้นอย่างรวดเร็วของดัชนีราคาที่จ่าย...เป็นข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่ส่งสัญญาณว่า ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้กำลังสร้างแรงกดดันขาขึ้นใหม่ให้กับอัตราเงินเฟ้อ"

ในส่วนของยุโรป ข้อมูลของเยอรมนีแสดงให้เห็นว่า การต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อยังมีหนทางที่ต้องดำเนินต่อไป โดยราคาสินค้าและบริการในเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 9.3% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 9.0% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และสูงกว่าตัวเลขในเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 9.2% โดยก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากฝรั่งเศสและสเปนชี้ให้เห็นว่า ราคาสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งก็ขัดแย้งกับมุมมองที่ว่า อัตราเงินเฟ้อในยุโรปนั้นเลยจุดสูงสุดมาแล้ว