เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา (United States Senate Banking Committee) ได้จัดการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการรับมือของหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐต่อการล้มเหลวของธนาคารที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันประกันเงินฝากสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) ธนาคารกลางสหรัฐ (U.S. Federal Reserve: Fed) และกระทรวงการคลังสหรัฐ (U.S. Department of the Treasury) เข้าร่วมการไต่สวนในครั้งนี้ โดย Martin Gruenberg ประธาน FDIC ได้พูดถึงสาเหตุของความล้มเหลวของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank รวมถึงบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัลและการรับมือวิกฤตดังกล่าวของหน่วยงาน
Gruenberg กล่าวว่า ปัจจัยทั่วไปที่ทำให้ธนาคารต่าง ๆ ล่มสลายในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ การมีเงินฝากที่ไม่มีหลักประกันในระดับสูงและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเขาเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการปิดตัวของ Silvergate Bank ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคมแม้ว่าสาเหตุของการปิดตัวจะเกิดจากการล้มละลายของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตอย่าง FTX โดย Gruenberg เผยว่า FTX มีเงินฝากในธนาคาร Silvergate น้อยกว่า 10% แต่ Silvergate กลับสูญเสียเงินฝากถึง 68% หลังจากที่ FTX ล้มละลาย และเขาได้เสริมว่า “ปัญหาที่ธนาคาร Silvergate Bank เผชิญแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของระบบธนาคารแบบดั้งเดิม…เมื่อไม่ได้รับการจัดการอย่างเพียงพอ ก็อาจรวมกันและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้”
FDIC ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร SVB ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา และ SVB ปิดทำการในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ซึ่ง FDIC ได้ทำงานร่วมกับ SVB ตลอดสุดสัปดาห์ดังกล่าว ส่งผลให้สามารถจัดตั้งธนาคารชั่วคราวเพื่อบริหารงานของธนาคารได้ในวันจันทร์ โดย Gruenberg ตั้งข้อสังเกตว่า SVB มีการเน้นให้บริการต่อกลุ่มบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนเพียงอย่างเดียวเฉกเช่นเดียวกับธนาคาร Silvergate
ขณะที่ธนาคาร Signature Bank มีการกระจายความเสี่ยงมากกว่าธนาคาร Silvergate หรือ SVB ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Signature Bank ตัดสินใจที่จะลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหลังจากการล้มละลายของ FTX และการโดนตรวจสอบโดยสื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตนกับ FTX โดย Signature Bank ได้รับความสนใจแง่ลบจากสาธารณชนมากยิ่งขึ้นหลังถูกฟ้องในข้อหาอำนวยความสะดวกให้กับการนำบัญชีมาผสมปนเปกันของ FTX
Gruenberg กล่าวว่า แม้ว่าการถอนเงินฝากออกจากธนาคาร Signature Bank จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม และทวีความรุนแรงขึ้นอีกในวันต่อมา โดยมีการถอนเงินฝากประมาณ 20% ในไม่กี่ชั่วโมง แต่สถานการณ์ได้แย่ลงไปอีกหลังจากที่บรรดาผู้บริหารไม่สามารถให้ข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องของธนาคารได้
Gruenberg ยังเผยอีกว่า ทั้งธนาคาร Silvergate และ Signature Bank มีการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าวเป็น "เพียงสองแพลตฟอร์มในประเภทนี้ที่เป็นที่รู้จักในหมู่สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการรับประกัน"
Gruenberg ได้ประมาณการเบื้องต้นว่า ค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันเงินฝาก (Deposit Insurance Fund) สำหรับบรรเทาความเสียหายจากการล่มสลายของธนาคาร Signature Bank และ SVB อยู่ที่ 22.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเขายังได้กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า “สถานะของระบบการเงินของสหรัฐอเมริกายังคงสมบูรณ์อยู่แม้จะเกิดเหตุการณ์เมื่อไม่นานนี้”
FDIC จะเผยแพร่รายงานในภาพรวมเกี่ยวกับระบบประกันเงินฝากของสหรัฐฯ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ FDIC จะเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการสอดส่องดูแลธนาคาร Signature Bank ของตนภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 นี้ ยิ่งไปกว่านั้น FDIC จะออกรายงานการเสนอการออกกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับเงินค่าประเมินพิเศษ (Special Assessment) ในเดือนดังกล่าวอีกด้วย