สำนักข่าว Reuter รายงานว่า เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศแคนาดาได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี พร้อมทั้งยังแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจของแคนาดาจะหยุดชะงักในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยทางธนาคารกลางตั้งเป้าที่จะระงับการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งก็ทำให้ธนาคารกลางของแคนาดากลายเป็นธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งแรกที่ประกาศพักการขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นมีแนวโน้มที่จะดันให้อุปสงค์ของสินค้าส่งออกที่สำคัญของแคนาดา เช่น น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, เมล็ดพืช, ธัญพืช และสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจของแคนาดาจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างนุ่มนวลโดยที่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2565 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน ได้ประกาศผ่อนปรนข้อจำกัดหลายอย่างหลังจากที่มีการยกเลิกนโยบายปลอดโควิดที่ดำเนินการมายาวนานไปแล้ว โดย Joseph Abramson หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในแคนาดาอย่าง Northland Wealth Management กล่าวว่า “เรากำลังเห็นเศรษฐกิจของจีนกลับมาเติบโตอีกครั้งจากการที่มีความคาดหวังด้านการเติบโต, สภาพคล่อง และการใช้จ่ายทางการคลังที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นที่นี่ โดยสกุลเงินดอลลาร์และหุ้นของบริษัทในแคนาดานั้นได้รับประโยชน์มหาศาล”
โดยตั้งแต่ที่มีรายงานว่า จีนจะกลับมาเปิดประเทศในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลค่าของราคาหุ้นบริษัทในแคนาดาและสกุลเงินดอลลาร์แคนาดาที่ได้ชื่อว่าเป็น “สกุลเงินสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์” ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยตลาดหุ้นของแคนาดาซึ่งประกอบด้วยหุ้นพลังงานและเหมืองแร่ประมาณ 30% ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 8% ในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้น 1.8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน Doug Porter หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการลงทุนในแคนาดาอย่าง BMO Capital Markets เผยว่า การที่จีนประกาศเปิดประเทศนั้นส่งผลบวกต่อแคนาดามากกว่าประเทศอื่นที่มีสินค้าโภคภัณฑ์น้อยกว่า โดยแคนาดาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 17.9% นับตั้งแต่จีนเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดด้านโรคระบาด Covid-19 ก่อนจะลดลงคืนเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา ทั้งนี้ทั้งนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีสาเหตุมาจากการเปิดประเทศของจีนก็อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ โดยTiff Macklem ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศแคนาดา ได้กล่าวกับสำนักข่าว Reuter ว่า “ความเสี่ยงระยะใกล้ที่ใหญ่ที่สุด หรือสิ่งที่อาจทำให้สิ่งต่าง ๆ สลายหายไปได้อย่างรวดเร็วอยู่ที่ว่า การเปิดเศรษฐกิจของจีนจะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นหรือไม่"
โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากภาคบริการ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่คิดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะดันราคาน้ำมันให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ซึ่ง Derek Holt หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ตลาดทุนของธนาคารสัญชาติแคนาดาอย่าง Scotiabank กล่าวว่า “หากสาเหตุหลัก ๆ มาจากภาคบริการที่ผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการผ่อนปรนคลายมาตรการโรคระบาด บางทีคุณอาจไม่เจอแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกเลยก็ได้”