ฝ่ายกำกับนโยบายและกำกับสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังธนาคารพาณิชย์ บริษัทแม่ บริษัทในเครือ และบริษัทร่วมของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยหนังสือเวียนดังกล่าวว่าด้วยเรื่อง “หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งมีการปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ในประกาศระบุหลักการสำคัญข้อหนึ่งไว้ว่า “ให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินยกเว้นธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่น สนับสนุนเทคโนโลยีหรือการพัฒนาบริการทางการเงินที่จะช่วยให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ไม่ปิดกั้นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ”

ไม่เพียงเท่านั้น ธปท. ยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี 

อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็ได้ระบุถึงขอบเขตในการประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ยังห้ามมิให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการที่สนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลหรือส่งเสริมให้มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

ในแง่ของการดูแลความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงและการพึ่งพาระหว่างกัน ธปท. ได้เตือนในประกาศไว้ว่า “บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ต้องมีแนวทางการดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์”

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินอีกด้วย เนื่องจากเห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจนจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว รวมถึง กลุ่มธุรกิจทางการเงินมีประสบการณ์และแนวทางในการดูแลความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังสนับสนุนการแข่งขันและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ และยังทำให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินปรับตัวได้ทันเทคโนโลยีอีกด้วย 

หลักเกณฑ์ใหม่ที่กล่าวมาทั้งหมดมีการระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 21 ตุลาคม 2565 และเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 22 ตุลาคม 2565