ธปท. นำเสนอนโยบายการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล หลังชี้ คนไทยรุ่นใหม่ “ขาดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ” จากบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนระบบก้าวตามไม่ทัน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ในหัวข้อ ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย (Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation) โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งนั้นได้กล่าวว่า คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมาก “ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ด้วยความท้าทายนานาประการ ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอันไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ผู้ว่าการ ธปท. จึงได้ยกตัวอย่างแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาการขาดความมั่นคงของคนรุ่นใหม่มา 2 นโยบาย โดยนโยบายแรกคือ การเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยการใช้ต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แนวทาง 

1. Open Infrastructure – เปิดกว้างโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม รวมถึงยังเปิดทางเลือกให้ผู้ใช้บริการได้เลือกสรรตามความต้องการมากขึ้น 

2. Open Data – ผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงิน เพื่อให้มีการนำร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint) มาใช้ประโยชน์ในวงกว้างและไม่เกิดการผูกขาดโดยบริษัทรายใหญ่

3. Open Competition – สนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งรายใหม่และรายเก่าสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองผู้ใช้บริการและอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน

นโยบายที่สองคือ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะให้ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการเอื้อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่จำเป็นต่อการปรับตัว ซึ่งทาง ธปท. ได้ออกแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

ดร. เศรษฐพุฒิอธิบายรายละเอียดความท้าทายที่คนรุ่นใหม่เผชิญจนทำให้ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยได้แบ่งเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 

1. ความท้าทายในการหาเลี้ยงชีพและการสร้างรายได้ที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ “สั่งสมความมั่งคั่ง” ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะสังเกตได้เลยว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1980 กับทศวรรษ 2010 จะพบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงถึง 50% จาก 7.2% ต่อปีเหลือเพียง 3.6% ต่อปีเท่านั้น

2. ความท้าทายด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้ตามทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด กระแสด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเลือกเส้นทางในการก่อร่างสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะที่ตลาดโลกต้องการในอนาคต รูปแบบงานและการทำงาน ความอยู่รอดของอาชีพในปัจจุบันว่าจะยังจำเป็นในโลกอนาคตอยู่อีกหรือไม่

3. ความท้าทายด้านภาระหนี้สิน – คนรุ่นใหม่สร้างภาระหนี้สินเร็วกว่าคนรุ่นก่อน และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยจากสถิติแล้ว “ครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคหรือหนี้สินบัตรเครดิต” ในขณะที่ 20% ของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มคนอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงานและกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า คนรุ่นใหม่ยังเผชิญกับ “ความไม่มั่นคงทางสังคม” ทั้งความขัดแย้งในสังคมที่มีความรุนแรงขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น อีกทั้งยังมี “ความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อม” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งความไม่มั่นคงทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเกิดมาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ระบบต่าง ๆ ในประเทศไทยปรับตัวไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่พร้อมรับมือกับอนาคต นอกจากนี้ ความไม่มั่นคง “จะบั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะ ลงทุน บุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ และก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง”