ปัจจุบันประชาชนหันไปใช้สกุลเงินดิจิทัลกันมากขึ้น เนื่องจากหลายคนหมดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมไป หลังจากการเกิดวิกฤตการเงินในปี 2007-2008 โดยสกุลเงินดิจิทัลยังช่วยรักษาเสรีภาพทางการเงินและความเป็นส่วนตัวในระบบการเงินดั้งเดิมได้ ถึงกระนั้น การเกิดขึ้นมาของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ส่งผลให้ใครหลายคนเกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพส่วนบุคคล

หนึ่งในเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับการใช้ CBDC คือ ผู้ทำธุรกรรมขาดความเป็นส่วนตัว เนื่องจาก CBDC สามารถติดตามธุรกรรมย้อนหลังได้ทั้งหมด กล่าวคือ ธุรกรรมทุก ๆ รายการจะถูกบันทึกและตรวจสอบโดยธนาคารกลาง ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจึงสามารถเข้ามาควบคุมและสอดแนมธุรกรรมทางการเงินได้ ขณะที่ธุรกรรมเงินสดจะไม่เปิดเผยข้อมูล ทำให้ผู้ทำธุรกรรมได้รับความเป็นส่วนตัว เนื่องจากไม่มีการบันทึกธุรกรรมแบบเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ 

เราสามารถทำความเข้าใจกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นของ CBDC ได้ด้วยการกลับไปศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินโลกของรัฐบาล ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตสำคัญ รัฐบาลทั่วโลกได้ออกนโยบายเพื่อยับยั้งการสนับสนุนด้านการเงินแก่การก่อการร้ายและต่อต้านการฟอกเงิน ทว่านโยบายเหล่านี้มักจะทำลายเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพลเมือง ยิ่งไปกว่านั้น บางนโยบายที่ออกโดยรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินโลกยังส่งผลให้มีการจำกัดกิจกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคลด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารกลางยังสามารถใช้ CBDC ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้คนนำเงินไปใช้จ่ายแทนการเก็บออม และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและการบริโภคนั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจสั่นคลอนความมั่นคงของเศรษฐกิจได้ และ CBDC อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน เนื่องผู้ใช้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ดิจิทัลจะถูกกีดกันจากระบบการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ คนจน และผู้ที่อาศัยอยู่ตามชนบทต่าง ๆ 

ถึงแม้ว่า CBDC อาจดูเป็นการพัฒนาที่ดี เพราะสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวสามารถทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความสะดวก มีราคาถูก และมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ CBDC อาจจะต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของผู้ใช้ เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางควรให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้ทำใช้เมื่อพวกเขามีแผนที่จะออก CBDC