นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตกับอุตสาหกรรมการธนาคารทั่วโลก ธนาคารล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวคือ ธนาคารจากประเทศเยอรมนีที่มีสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลกอย่าง Deutsch Bank ซึ่งได้เกิดการแห่ถอนเงินจากนักลงทุนจำนวนมาก หลังจากราคาของเครื่องมือป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Default Swap: CDS) ของธนาคารพุ่งไปแตะที่ระดับสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 และหุ้นของธนาคารก็ลดลงถึง 8.22% ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนหลายคนมีความกังวลว่า ธนาคาร Deutsch Bank อาจจะล่มสลายเหมือนกับธนาคารจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Credit Suisse
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า กรณีดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก Deutsch Bank สามารถทำกำไรได้ติดต่อกัน 10 ไตรมาสแล้ว และยังมีความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งอีกด้วย
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุว่า ทำไม Deutsch Bank จะไม่ล่มสลายเหมือนกับ Credit Suisse โดยเหตุผลแรกคือ ในปีที่ผ่านมา Deutsch Bank สามารถทำกำไรได้ ขณะที่ Credit Suisse นั้นขาดทุน ซึ่ง Deutsch Bank มีรายได้สุทธิประจำปี 2022 อยู่ที่ 5 พันล้านยูโร (5.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ Credit Suisse มีผลขาดทุนอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส (7.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีดังกล่าว
เหตุผลที่สองคือ Deutsch Bank มีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 142% ในช่วงสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมาซึ่งถือว่าสูงมาก นั่นหมายความว่า ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องเหลือเฟือที่จะนำมาชดเชยเงินสดที่ไหลออกกะทันหันเป็นเวลา 30 วันได้ ในทางกลับกัน Credit Suisse เปิดเผยว่า ทางธนาคารต้องใช้ “กองทุนสภาพคล่อง (Liquidity Buffer)” ในปี 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารมีสภาพคล่องต่ำกว่าที่กฎกำกับดูแลกำหนด
บริษัทด้านการวิจัยอย่าง Autonomous ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทการจัดการการลงทุนอย่าง AllianceBernstein (AB) มีความมั่นใจในสถานการณ์ของ Deutsch Bank อย่างมากจนถึงขนาดออกบันทึกการวิจัยที่ระบุว่า “เราไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความอยู่รอดหรือสินทรัพย์ของ Deutsch Bank กล่าวให้ชัดเจนคือ Deutsch Bank ไม่ใช่ Credit Suisse รายต่อไป”