เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) ได้ออกประกาศการร่วมมือกับธนาคารกลางของต่างประเทศอีก 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศแคนาดา (Bank of Canada) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan) ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) และธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) เพื่อเพิ่มการมอบสภาพคล่องผ่านเครือข่าย Swap Line สำหรับสภาพคล่องของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ด้านธนาคารที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 20 มีนาคมถึงช่วงวันที่ 30 เมษายน 2023 นี้เป็นอย่างน้อย

โดยในประกาศดังกล่าว Fed ได้ระบุว่า “เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของ Swap Line ในการจัดหาเงินทุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางที่กำลังให้บริการในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันได้ยินยอมที่จะเพิ่มความถี่ของการดำเนินการที่มีวันครบกำหนดการชำระเงิน 7 วันจากรายสัปดาห์เป็นรายวัน”

ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ธนาคาร Union Bank of Switzerland (UBS) ตกลงเข้าซื้อธนาคาร Credit Suisse ในราคา 3.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉินของทางการสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางมุมมองเชิงลบต่อระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีหลายธนาคารล่มสลายลงไป ได้แก่ ธนาคาร Silvergate Bank และธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) รวมไปถึงการที่หน่วยงานกำกับดูแลบริการทางการเงินของรัฐนิวยอร์ก (New York State Department of Financial Services: NYDFS) ได้เข้าควบคุมกิจการของธนาคาร Signature ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวของ Fed ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงว่า แผนการดังกล่าวเป็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) หรือไม่ โดย Danielle DiMartino Booth ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐ ได้แย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรืออัตราเงินเฟ้อ และไม่ได้เป็นการ “ผ่อนคลาย” เงื่อนไขทางการเงินด้วย

Swap Line ของ Fed ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินทุนดอลลาร์สหรัฐในช่วงสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก โดยก่อนหน้านี้ Fed ได้นำ Swap Line มาใช้เป็นมาตรการแนวฉุกเฉิน 2 ครั้ง ซึ่งก็คือช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2007-2008 และการรับมือกับวิกฤตการณ์การระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา