ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) เตรียมที่จะประกาศอัตราดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้ โดยบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารทั้งสองแห่งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% เลยทีเดียวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแรงให้อยู่หมัด
ถึงกระนั้น นักลงทุนก็ให้ความสนใจกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (Non-Farm Payrolls) และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากดัชนีเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ช่วยให้พวกเขารู้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดจะเริ่มชะลอตัวลงเมื่อไร ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูเหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนจับตามองในสัปดาห์นี้กัน
1. การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ ทั้งนี้ เหล่านักลงทุนเตรียมจับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐอย่าง Jerome Powell เพื่อมองหาสัญญาณการชะลออัตราดอกเบี้ยในอนาคต หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว
นอกจากนี้ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคม และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวในงานประชุม 2 ครั้งแรกของปีหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ท่าทีผ่อนปรนของธนาคารกลางสหรัฐก็เป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเผื่อใจไว้ด้วยถ้าหากว่าการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
2. การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐและการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนตุลาคมที่จะเกิดขึ้นในวันพุธและศุกร์นี้ตามลำดับถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนคาดการณ์ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐก่อนการประชุมในเดือนธันวาคมนี้
โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์รายงานจากกระทรวงแรงงานสหรัฐว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งลดลงจาก 263,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ในขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) จะชะลอตัวลง
3. การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ ถึงแม้ว่าอังกฤษกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ Rishi Sunak มีแผนลดการใช้จ่าย ทว่าธนาคารกลางอังกฤษก็ยังเตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่า 10% นั่นเอง
นักวิเคราะห์คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ทว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษคนใหม่อย่าง Jeremy Hunt กลับปัดตกแผนลดการเก็บภาษีเกือบทั้งหมดของนายกคนเก่าอย่าง Liz Truss รวมทั้งยังย่นระยะเวลาแผนจำกัดราคาพลังงานจาก 2 ปีเหลือเพียง 6 เดือนเท่านั้น ทำให้คำคาดการณ์ดังกล่าวถูกยกเลิกไป
4. การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน โดยยูโรโซนเตรียมที่จะเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนตุลาคมในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.2% เลยทีเดียว
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรปได้เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% โดยถ้อยแถลงจากผู้กำหนดนโยบายการเงินก็บ่งบอกว่า ทางธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนถัด ๆ ไปเพื่อสะกัดกั้นเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อแล้ว ยูโรโซนยังเตรียมที่จะปล่อยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เบื้องต้นสำหรับไตรมาสที่ 3 ในวันจันทร์นี้ด้วย โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า GDP จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะหดตัวในช่วงไตรมาสที่ 4