เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของประเทศเยอรมนีได้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมาซึ่งมีชื่อว่า Future Financing Act เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขและอำนวยความสะดวกให้บริษัทสตาร์ตอัปในการเข้าถึงตลาดทุน และเสริมสร้างความเป็นไปได้ที่พนักงานจะสามารถมีส่วนร่วมในการลงทุนในบริษัทที่ตนทำงานอยู่

กระทรวงการคลังของเยอรมนีระบุว่า ร่างกฎหมาย Future Financing Act มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสะสมความมั่งคั่งของภาคเอกชน และระดมเงินทุนของภาคเอกชนมากขึ้นสำหรับการลงทุนในด้านการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการเข้าสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การลดปริมาณขั้นต่ำสำหรับการเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25 ล้านยูโร (ราว 1.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหลือ 1 ล้านยูโร (ราว 1.1 ล้านดอลลาร์) และการอำนวยความสะดวกให้เหล่าสถาบันลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป บริษัทที่มีการเติบโต วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-Sized Enterprise) และบริษัทประเภท Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ โดยสำนักข่าวท้องถิ่นในเยอรมนีรายงานว่า กฎเกณฑ์ใหม่เหล่านี้จะถูกนำไปใช้กับบริษัทที่มีพนักงานไม่เกิน 500 รายและมีรายได้ต่ำกว่า 100 ล้านยูโร (ราว 109 ล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงการเสนอให้มีการแปลงตลาดทุนเป็นแบบดิจิทัลด้วยโดยการออกหุ้นอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงการเสนอให้มีการตรวจสอบความสามารถในการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์คริปโตอีกด้วย

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนีอย่าง Christian Lindner แถลงการณ์ว่า รัฐบาลเยอรมนีต้องการที่จะทำให้ประเทศกลายเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทที่มีการเติบโต ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจึงกำลังเร่งปรับปรุงการเข้าถึงตลาดทุนอยู่ในปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการระดมทุน โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายดังกล่าวคือ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

พร้อมกันนี้ รัฐบาลเยอรมนียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เยอรมนีกลายเป็นที่หมายปองของนักลงทุน รวมถึงส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนในตลาดหุ้นด้วย โดย Lindner กล่าวย้ำว่า “บริษัทสตาร์ตอัป บริษัทที่มีการเติบโต และบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางควรจะเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น”

เยอรมนีเป็นประเทศสมาชิก G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ประกอบไปด้วยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก 7 ประเทศ ซึ่ง ณ ขณะนี้ ประเทศสมาชิก G7 กำลังแสวงหาแนวทางกำกับดูแลสกุลเงินคริปโตที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ด้านคริปโตหลายคนมองว่า ท่าทีดังกล่าวอาจจะทำร้ายนวัตกรรมและการเติบโตของวงการคริปโตในอนาคตได้