วันนี้ (20 มกราคม 2566 ตามเวลาประเทศไทย) สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นได้ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด (Core Consumer Price Index: CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมเรียบร้อยแล้ว โดยตัวเลขที่ออกมาคือ 4% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี หรือตั้งแต่ปี 2524 เลยทีเดียว อีกทั้งยังพุ่งทะลุเป้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) ตั้งเอาไว้ที่ 2% มาเป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกันด้วย เนื่องจากราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงยังมีความหวังว่า BOJ อาจจะเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนก็ไม่เชื่อว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่า บรรดาบริษัทในประเทศจะปรับขึ้นค่าจ้างพนักงานสูงพอที่จะไปหักล้างกับผลกระทบต่อการบริโภคที่เกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ราว 2% อย่างต่อเนื่องได้หรือไม่

Yoshiki Shinke หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Dai-ichi Life Research Institute กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากเท่าไร ดังนั้น เราอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่เหนือระดับ 2% ซึ่งเป็นกรอบเป้าหมายที่ BOJ กำหนดไว้จนถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ได้ นอกจากนี้ เขายังระบุอีกว่า ค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% และค่าจ้างของประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้นมาก BOJ ก็อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ แต่ถ้า BOJ มองว่า ค่าจ้างของประชาชนเพิ่มขึ้นช้ากว่าเงินเฟ้อ ทางธนาคารกลางก็อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม

ขณะที่ Yasunari Ueno หัวหน้านักเศรษฐกิจด้านตลาดจากบริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของอุปทานอย่างกะทันหันเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า BOJ อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ในช่วงหลังจากการเปลี่ยนผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารกลางไปแล้วซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนและมีนาคมที่จะถึงนี้ตามลำดับ โดย Shinke ก็คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนมกราคมนี้ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในเดือนต่อ ๆ ไป เนื่องจากทางรัฐบาลมีแผนที่จะให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดค่าสาธารณูปโภคเพื่อลดภาระให้แก่ครัวเรือนในปีนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินแบบคลายตัวมากกว่าปกติจนกว่าค่าจ้างของประชาชนในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทในญี่ปุ่นก็เริ่มประกาศแผนการที่จะปรับขึ้นค่าจ้างของพนักงานในประเทศแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น สำรวจของสำนักข่าว Reuters ยังชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นเกินครึ่งมีแผนที่จะขึ้นค่าจ้างให้พนักงานในปีนี้ด้วย