ในโลกของการเงินการลงทุนทุกวันนี้ การลงทุนแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และในหลาย ๆ ครั้งการลงทุนเหล่านี้ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งบางครั้งก็เป็นจริง ๆ และบางครั้งก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็น

แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจตรงนั้น เราอาจต้องย้อนไปทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่” นิยามจริง ๆ ของมันคืออะไร

คำว่าแชร์ลูกโซ่ ในภาษาไทย จริง ๆ มันเป็นคำที่ใช้เรียกทั้งสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ponzi Scheme และ Pyramid Scheme ซึ่งทั้งสองอย่างมีทั้งจุดที่เหมือนกันและจุดต่างกันอยู่ จุดที่เหมือนกันก็คือ มันล้วนเป็น “ธุรกิจ” ที่สร้าง “ผลกำไร” ได้จากการที่มีคนเข้ามา “ลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ” แต่เพียงอย่างเดียว มันล้วนใช้เงินของสมาชิกหน้าใหม่ไปจ่ายสมาชิกหน้าเก่าวนไป ไม่ได้สร้างผลกำไรจากการขายสินค้าและบริการอะไร ซึ่งมันจะดำเนินต่อไปได้จนระบบไม่สามารถหาคนเข้าร่วมเพิ่มได้และพังลง

ส่วนความต่างคือ Ponzi Scheme มันจะมีลักษณะเป็นเหมือนการหลอกให้ “ลงทุน” ในธุรกิจที่เนื้อในคือหลอกเอาเงินนักลงทุนหน้าใหม่มาจ่ายเป็น “ผลตอบแทน” ให้นักลงทุนก่อนหน้า ส่วน Pyramid Scheme มันจะมีลักษณะคล้าย Multi-Level Marketing  ที่มีค่าแรกเข้า และมีระบบ “ดาวน์ไลน์” ที่จะกระตุ้นให้คนชวนคนอื่นมาเข้าระบบ เพื่อจะได้ส่วนแบ่งจาก “รายได้” ของ “ดาวน์ไลน์” ตัวเองเป็นทอด ๆ ซึ่งคนที่อยู่บนสุดก็จะได้ผลตอบแทนจากทุกคนในระบบ มันเลยเหมือน “พีระมิด” ซึ่งความต่างของ Pyramid Scheme จากธุรกิจ Multi-Level Marketing ที่ถูกกฎหมายคือ Multi-Level Marketing จะมีการขายสินค้าและบริการจริง แต่ Pyramid Scheme ไม่มี หรือพูดอีกแบบ Pyramid Scheme นั้นมักจะบอกว่าตัวเองคือธุรกิจ Multi-Level Marketing แต่ความจริงรายได้ที่ใช้จ่ายคนในระบบนั้นไม่ได้มาจากการขายสินค้าและบริการให้ผู้บริโภค

จริง ๆ แล้วมีบันทึกว่าการ “ฉ้อโกง” พวกนี้มีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างต่ำ แต่ยุคที่มันใช้ชื่อแรกอย่าง Ponzi Scheme ก็คือในทศวรรษ 1920s ที่คนอย่าง Charles Ponzi นั้นพบว่าเขาสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาของ “คูปองส่งจดหมาย” ในตลาดอเมริกาและยุโรปได้ ซึ่งอธิบายง่าย ๆ คือ ในยุคก่อนการส่งจดหมายนั้น คนส่งสามารถใส่คูปองไปในจดหมาย เพื่อให้ผู้รับสามารถส่งจดหมายกลับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่ง Charles Ponzi พบว่าราคาตลาดในอเมริกาและยุโรปของคูปองนี้ต่างกัน และการไปซื้อสินค้าในตลาดที่ราคาถูก แต่เอามาขายในตลาดที่ราคาแพงกว่าเพื่อทำกำไรนั้นก็คือ “การทำกำไรจากส่วนต่างราคา” (Arbitrage) แบบคลาสสิก

แน่นอน Charles Ponzi ทุนน้อย และยิ่งทุนเยอะก็ยิ่งทำกำไรได้ เขาเลยไประดมทุนมาทำโดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน 50% ใน 45 วัน

ว่ากันว่าตอนแรก ๆ Charles Ponzi ก็เอาเงินไปทำกำไรจากส่วนต่างราคาจริง ๆ แต่พอเงินไหลเข้ามาเยอะ ๆ เขาก็เลิกทำ และเอาเงินจากนักลงทุนใหม่ไปให้นักลงทุนเก่าแทน ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าผลตอบแทนขนาดนี้ คนมาลงทุนเยอะอยู่แล้ว และช่วง 1920s ในอเมริกา เงินมันสะพัดสุด ๆ คนก็ไม่ได้สนใจอะไร

ซึ่งสุดท้ายพอไม่มีคนลงทุนเพิ่ม ระบบก็พัง คนก็สูญเงินไปมหาศาล และ Charles Ponzi ก็กลายเป็นตำนานนักต้มตุ๋นจนชื่อถูกจารึกไว้ตลอดกาลในคำว่า Ponzi Scheme

และเราก็ต้องเข้าใจว่า “การลงทุน” ในยุคของ Ponzi นี่คือเถื่อนสุด ๆ ยุคนั้นไม่ได้มีแค่แชร์ลูกโซ่ แต่มีบริษัทที่เนื้อในไม่มีอะไร สร้างมาลอย ๆ เพื่อปั่นหุ้นขายแล้วชิ่งหนีเต็มไปหมด ซึ่งก็เรียกว่าหลังจากตลาดหุ้นพังระดับอลังการไปในปี 1929 ทางรัฐบาลกลางสหรัฐถึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างไม่ให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น มันก็เลยเกิด กลต. (SEC หรือ Securities and Exchange Commission) มาในปี 1934 เพื่อสร้างระเบียบว่า การ “ชวนสาธารณชน” มา “ลงทุน” ต้องได้รับอนุญาตจาก กลต. ก่อน ไม่งั้นผิดกฎหมาย ซึ่งระบบแบบนี้ก็แทบจะเป็นการยุติ “แชร์ลูกโซ่” แบบเดิมไปอย่างถาวร หรือให้ตรงก็คือ จะเช็กว่าเป็น Ponzi Scheme หรือไม่ ก็สามารถดูได้จากว่า ก.ล.ต. อนุญาตหรือเปล่า และนี่ก็คือเหตุผลให้ กลต. กลายมาเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมากในโลกการลงทุนปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี นี่เลยทำให้ยุคต่อมาเป็นยุคของ Pyramid Scheme ซึ่งไม่ใช่เป็นการ “ชวนลงทุน” อีกแล้ว แต่เป็นการ “ชวนมาเข้าเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ขาย” นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่ซับซ้อนไปกว่าเดิมและอยู่นอกอำนาจ กลต. เพราะมันไม่ใช่การ “ชวนลงทุน” และนี่ก็เลยทำให้ในปี 1979 องค์กรที่มีบทบาทในการไต่สวน Amway คือองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแทน ซึ่งผลของการไต่สวนในที่สุดก็ตัดสินว่า Amway ไม่ใช่ Pyramid Scheme ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ Amway นั้นไม่มีค่าแรกเข้า และมีระเบียบว่าคนในเครือข่ายต้องขายต่อสินค้าที่ซื้อไปขั้นต่ำ 70% ด้วย

ตอน Amway โดนคดีนี้ บริษัทอายุ 20 ปีแล้ว ซึ่งคนก็น่าจะคิดว่าบริษัทอยู่มาได้ขนาดนี้ก็คงไม่ใช่ “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งเคสเดียวกันก็เกิดกับ Herbalife ในทศวรรษ 2010 ตอนบริษัทอายุได้ 30 กว่าปีแล้ว และ Herbalife ก็รอดข้อหามาเหมือนกัน   แต่อายุบริษัทก็ไม่ใช่หลักประกันว่าธุรกิจจะไม่ใช่ “แชร์ลูกโซ่” เพราะ “แชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่อ้างว่าสามารถทำกำไรจากการ “เทรดหุ้น” ของ Bernie Madoff ที่โดนปราบปรามในปี 2009 ก็สามารถดำเนินมาได้ต่อเนื่องราว ๆ 30 ปีเลยทีเดียวก่อนจะล่มลงในปี 2009 หลัง “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เริ่มขึ้น

แล้วในทางปฏิบัติ อะไรคือตัวชี้วัดแชร์ลูกโซ่? ทั่ว ๆ ไปหลักในการดูง่าย ๆ คือ การอ้างว่าเสียเงินไปแล้วจะได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติมาก (หลักเกิน 10%) และอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด พร้อมทั้งไม่มีคำอธิบายธุรกิจที่ชัดเจนหรือซับซ้อนจนเวียนหัว ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือมันจะแทบไม่มีการทำกำไรจากการขายสินค้าและบริการจริง ๆ เลย (ส่วนมากจะใช้สินค้าและบริการเพื่อเอามาบังหน้า)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแชร์ลูกโลกโซ่หรือธุรกิจจริง ๆ สิ่งที่ไม่ได้ต่างกันก็คือโอกาสจะสูญเสียเงินทุน เพราะสุดท้ายธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างก็สามารถทำให้เงินทุนสูญเกลี้ยงได้เหมือนกัน ดังนั้นสำหรับนักลงทุนการประเมินความเสี่ยงให้ได้อย่างเหมาะสมจึงสำคัญที่สุด และอาจสำคัญกว่าคำถามในเชิงนิยามว่าสิ่งที่กำลังจะลงทุนไปเป็น “แชร์ลูกโซ่” หรือไม่ด้วยซ้ำ

 

Ref.

https://time.com/5877434/first-ponzi-scheme/

https://www.investopedia.com/terms/p/ponzischeme.asp

https://www.investopedia.com/insights/what-is-a-pyramid-scheme/

https://en.wikipedia.org/wiki/In_re_Amway_Corp.

https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2014/06/wall-streets-6-billion-mystery/361624/