เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์ภาพอินโฟกราฟิกผ่านเพจ Facebook ของหน่วยงาน ว่าด้วยเรื่อง “7 เรื่องระบบการเงินไทย ก้าวไกลระดับโลก” โดยในส่วนที่เป็นแวดวงสกุลเงินคริปโตและบล็อกเชนมีอยู่ 3 หัวข้อด้วยกันที่ทาง ธปท. ชูขึ้นมาด้วยความภูมิใจ

อย่างแรกคือ PricewaterhouseCoopers (PwC) บริษัทตรวจสอบบัญชีหนึ่งในสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้จัดอันดับให้พัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ของ ธปท. เป็นอันดับ 1 ของโลก 2 ปีซ้อน (2564-2565) ภายใต้โครงการอินทนนท์-ไลออนร็อกที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) โดยเมื่อปี 2562 ทั้งสองธนาคารกลางได้ร่วมมือทดสอบการใช้งาน CBDC เพื่อทำธุรกรรมข้ามพรมแดนขึ้น และยังพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบในการชำระเงินระหว่างประเทศและขยายขอบเขตการใช้งานไปในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

สอง โครงการ mBridge ซึ่งเป็นโครงการพัฒนา Wholesale CBDC สำหรับโอนเงินระหว่างประเทศแบบหลายสกุลที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และ HKMA เช่นเดียวกัน ได้จัดเป็น “1 ใน 3 โครงการแรกของโลก” และเป็นโครงการที่มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงินมากที่สุดของโลกอีกด้วย โดยโครงการนี้มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาต้นแบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมหลายสกุลเงิน และทำได้ทันทีผ่านเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology)

ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โครงการ mBridge ได้ร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้นอย่าง ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีก 20 แห่ง ในการทดลองการนำ CBDC ทั้งหมด 4 สกุล ได้แก่ บาทไทย (THB), เดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (AED), หยวนจีน (CHY) และ ดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) มาทดลองใช้สำหรับธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศด้วยมูลค่าจริงครั้งแรกของโลกภายใต้โครงการ mBridge Pilot Project ในวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 23 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย

และสาม ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้และบริการทางการเงินในภาคธุรกิจ 

ส่วนอีก 4 ข้อที่เหลือนั้นจะเกี่ยวกับการใช้ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) และ QR Code สำหรับการชำระเงิน โดยระบบพร้อมเพย์ของประเทศไทย “มีค่าโอนเงินรายย่อยต่ำที่สุด” ทำให้เป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมธนาคารผ่านมือถือ (Mobile Banking) ของไทยให้อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว โดยข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่าการโอนเฉลี่ย 1.2 แสนล้านบาทต่อวัน และปริมาณการโอนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.1 ล้านรายการต่อวัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้ QR Code โอนเงินเป็นมาตรฐานเดียวกันได้กับทุกเครือข่ายบัตรรายใหญ่ และในแง่ของการชำระเงินระหว่างประเทศ ไทยยังมีเครือข่ายการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศ “มากที่สุด” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) โดยเริ่มจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2561, กัมพูชาในปี 2563 และในปี 2564 ร่วมมือกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์