เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ดร. นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงินของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้เข้าบรรยายในหัวข้อ “พัฒนาการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ” ในงาน Blockchain Thailand Genesis 2022 | Road to Web 3 โดยส่วนหนึ่งของการบรรยาย ได้กล่าวถึงเรื่องเฮียริ่งการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลที่ 5,000 บาทที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาและปิดไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ซึ่งทาง ก.ล.ต. ก็ได้ขอบคุณทุกความเห็นที่ส่งเข้ามา และจะนำไปปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่จะออกมาในอนาคต 

นภนวลพรรณยังย้ำอีกว่า ทุก ๆ กฎเกณฑ์ที่จะประกาศออกมาในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด อาจไม่จำเป็นต้องตรงตามร่างเสนอทั้งหมด เนื่องจาก ก.ล.ต. จะนำความเห็นที่ได้รับจากการเปิดรับฟังเสียงประชาชนไปปรับใช้ก่อนจะประกาศใช้

เช่นเดียวกับ กรณี “Utility Token พร้อมใช้” ที่ ก.ล.ต. กำลังทบทวนเกณฑ์หลังจากที่ปิดเฮียริ่งไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยนภนวลพรรณระบุว่า หลังพิจารณาความเห็นแล้ว อาจมีการแยกประเภท Utility Token พร้อมใช้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. กลุ่มอุปโภคบริโภค (Non-Financial Product) ซึ่งเป็นการนำโทเคนไปแลกสินค้าและบริการ หรือนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้กับวุฒิบัตรต่าง ๆ เช่น การแปลงบัตรกำนัล ตั๋วคอนเสิร์ต ตั๋วเครื่องบินให้ไปอยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล ซึ่งราคาหรือความนิยมของเหรียญในรูปแบบนี้จะขึ้นอยู่ตัวสินค้าและบริการเอง

และ 2. กลุ่มการเงิน (Financial Product) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น Exchange Token, Governance Token และเหรียญจากโครงการการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized Finance: #CeFi) และแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: #DeFi) โดยได้ยกตัวอย่างเป็นเหรียญ #KUB, #BNB หรือเหรียญของแพลตฟอร์มอย่าง #Ethereum หรือ #Uniswap 

ซึ่งราคาของเหรียญประเภทที่ 2 นี้จะผูกกับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต บล็อกเชน หรือโครงการต่าง ๆ หากมีข่าวเสียหายที่กระทบด้านความเชื่อมั่น ราคาเหรียญจะได้รับผลกระทบไปด้วย นภนวลพรรณจึงได้เตือนว่า เหรียญประเภทนี้เป็นกลุ่มที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึง ก.ล.ต. ไทยให้ความสนใจและกังวลในแง่ความปลอดภัยของผู้บริโภค “แม้ Utility Token พร้อมใช้จะไม่ได้ออกมาเพื่อระดมทุน แต่ถ้าเอามาลิสต์ในตลาดรอง มีคนเข้าไปซื้อ ผู้ลงทุนจึงควรมีข้อมูลครบถ้วน เพื่อการตัดสินใจ เฮียริ่งที่ออกไปจึงบอกว่าต้องมาขออนุญาตก่อน ต้องเปิดเผยข้อมูล” นภนวลพรรณระบุ

ในส่วนของ Investment Token นั้น ทาง ก.ล.ต. ก็ยืนยันว่าเป็นแนวทางที่ทางหน่วยงานสนับสนุน และกำลังร่วมมือกับหน่วยงานสรรพากร เนื่องจากตอนนี้ยังมีประเด็นเรื่องภาษีที่ยังกีดกันผู้ระดมทุนอยู่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวก็ต้องทำไปพร้อมกับการพิจารณาปรับเกณฑ์กำกับดูแลให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลหลักทรัพย์ เนื่องจาก Investment Token จะอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ในอนาคต