ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่า ธนาคารกลางของประเทศไทย “ไม่ล้าหลัง” ต่างประเทศแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่าง “พร้อมเพย์” และสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ของประเทศไทยสามารถทำได้ดีกว่าประเทศอื่น

พร้อมยกตัวอย่างโครงการ “mBridge” ซึ่งเป็นโครงการทดสอบการนำ CBDC สำหรับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ทั้งหมด 4 สกุลมาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรก โดยโครงการนี้ได้ความร่วมมือจากหลายประเทศได้แก่ ฮ่องกง จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) 

ซึ่งเศรษฐพุฒิได้ให้สัมภาษณ์ในคอลัมน์ Govener’s Talk ในหัวข้อ “8 ทศวรรษธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมรับมือความท้าทายภายใต้บริบทใหม่” ระบุว่า “mBridge เป็น 1 ใน 3 โครงการในโลกที่ดำเนินการเรื่องนี้ในปัจจุบัน เราจึงเป็น 1 ใน 10 ของธนาคารกลางที่เข้ามาทำ และมีธนาคารกลางประเทศอื่นขอเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย ดังนั้น ผมตอบได้เลยว่าเราไม่ล้าหลัง”

นอกจากนี้ เขายังเผยว่า การพัฒนาระบบดิจิทัลเป็นหนึ่งในทิศทางสำคัญของธปท. ภายใต้บริบทใหม่ เป้าหมายสำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบโจทย์และช่วยสร้างโอกาสใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคออกไป และภูมิทัศน์ทางการเงินที่หน่วยงานอยากเห็นคือ ระบบการชำระเงินที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสร้างนวัตกรรมและความเท่าเทียม (Open Infrastructure), การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองได้ (Open Data) และพื้นที่แข่งขันที่เปิดให้กับผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น (Open Competition) 

ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับปี 2566 นี้ ธปท. เตรียมทดลองใช้ CBDC สำหรับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจทั้งเรื่องการใช้งานและเทคนิค และเมื่อพร้อมแล้วจะนำไปใช้จริง อีกทั้ง ยังได้เผยข้อดีของ CBDC ที่แตกต่างจากระบบพร้อมเพย์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันด้วยว่า CBDC สามารถใส่เงื่อนไขในการชำระหรือโอนเงินให้ประชาชนโดยตรงได้เลยหากเป็นโครงการของรัฐ เพื่อให้ตรงความวัตถุประสงค์ของผู้ออกนโยบาย