สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้จัดงานเสวนา “ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า” ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสการก่อตั้งหน่วยงานครบรอบ 30 ปี ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยในงานได้รับเกียรติจากบุคลากรในโลกการเงินมากหน้าหลายตามาเสนอแนวคิด ความคิดเห็น พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 

โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า” เนื้อความระบุว่า ท่ามกลางเวลาปัจจุบันนี้ นอกจากตลาดเงินและตลาดทุนแล้ว ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็เป็นส่วนเพิ่มเติมจากบริบทเดิม ซึ่งทางหน่วยงานทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมหารือกันมาโดยตลอดในเรื่องขอบเขตการกำกับดูแลเพื่อกำจัดช่องว่างที่มีอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางข้อ 

รมว. คลังยังเผยอีกว่า “โดยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้น เป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในการรักษาสมดุลให้ได้”

นอกจากนี้ อดีตเลขาธิการของ ก.ล.ต. ที่มาร่วมงานเสวนานั้นก็ได้ออกมาเสนอความคิดเห็นและมุมมองแก่ ก.ล.ต. ถึงทิศทางและแนวทางที่จะรับมือและหน้าที่พึงปฏิบัติเพื่อรองรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหม่ของระบบการเงินประเทศไทย เอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ในปี 2535-2538 เผยว่า ก.ล.ต. ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดทุนในประเทศอย่างยั่งยืน และมองว่า การกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นความท้าทายของหน่วยงาน เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลในพื้นที่นี้เป็นเรื่องใหม่ พร้อมแนะนำว่า “เพราะเราควบคุมต้นน้ำไม่ได้ จึงต้องมีการกำกับดูแลผ่านผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น ศูนย์ซื้อขาย” นอกจากนี้ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน เนื่องจากบางประเทศก็ไม่ยอมรับ บางประเทศมองว่าเป็นตลาดสินทรัพย์ทางเลือก หรือบางประเทศมอบหมายให้ธนาคารกลางเป็นผู้ดูแลไป และตัวเขายังเชื่อว่า หากวางข้อกำหนดการกำกับดูแลเป็นอย่างดี จะเป็นการปูทางให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการ ก.ล.ต. ปี 2538-2542 กล่าวว่า “ก.ล.ต. ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประสานงานให้มากขึ้น ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพัฒนา” พร้อมทั้งแนะนำว่า หมุดหมายต่อไป ก.ล.ต. ควรเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายขึ้น 

วรพล โสคติยานุรักษ์ และรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ปี 2554-2558 และปี 2558-2562 ตามลำดับ แนะนำไปในทิศทางเดียวกันว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก.ล.ต. ควรเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ ด้วยการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง และสนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีความรู้เรื่องการเงินและการลงทุน รวมถึงสินค้าที่จะนำเงินไปลงทุน เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงความเสี่ยง และสามารถปกป้องตัวเองได้ 

สุดท้าย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคนปัจจุบันของ ก.ล.ต. ก็กล่าวขอบคุณบุคลากรผู้ที่มาร่วมแบ่งปันแง่คิด มุมมอง และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ก.ล.ต. อีกทั้งจะนำคำแนะนำเหล่านี้ ประกอบกับแนวนโยบายจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไปพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืนอีกด้วย 

cr ภาพ www.moneyandbanking.co.th