เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา Thani Al-Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ภายในงานประชุมประจำปี 2566 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 20 มกราคม 2566 ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในระหว่างการสัมภาษณ์นั้น เขาได้เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าของประเทศและนโยบายที่จะนำมาใช้ในปี 2566

Al-Zeyoudi กล่าวถึงภาคส่วนคริปโตว่า “คริปโตจะมีบทบาทสำคัญต่อการค้าของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในอนาคต” พร้อมกับระบุว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราจะต้องทำให้เกิดการกำกับดูแลทั่วโลกในเรื่องของสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ และบริษัทคริปโต”

ไม่เพียงเท่านั้น Al-Zeyoudi ยังกล่าวอีกว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังเดินหน้าออกกฎกำกับดูแลโดยจะเน้นไปที่การทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางที่มีนโยบายเป็นมิตรต่อคริปโตซึ่งมีการคุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งยังระบุว่า “เราเริ่มดึงดูดบริษัทบางแห่งเข้ามาในประเทศแล้วโดยมีเป้าหมายเพื่อที่ว่า เราจะร่วมกันสร้างระบบกฎหมายและแนวทางการกำกับดูแลที่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่คณะรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ผ่านกฎหมายกำกับดูแลสินทรัพย์เสมือนของประเทศฉบับใหม่ ซึ่งมีผลให้บริษัทที่ดำเนินงานด้านคริปโตในประเทศต้องไปขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์เสมือน (Virtual Asset Regulatory Authority: VARA) ก่อน ซึ่งบริษัทที่ฝ่าฝืนก็จะโดนปรับเป็นเงินมากถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ตัวแทนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่ Al-Zeyoudi เท่านั้น ก่อนหน้านี้ในวันที่ 19 มกราคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจดิจิทัลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่าง Omar Sultan Al Olama ยังได้เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวเพื่อร่วมการอภิปรายเรื่องคริปโตอีกด้วย โดยเขาระบุว่า แม้ว่าการล้มละลายของ FTX จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงมีความประสงค์ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางด้านคริปโตอยู่แม้ว่าจะเกิดหายนะดังกล่าว โดย Al Olama กล่าวทิ้งท้ายว่า “การที่พวกเขา (บริษัทคริปโต) เรียกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าเป็นบ้านนั้นเป็นสิ่งดีอย่างแน่นอน”