ในปัจจุบันสินทรัพย์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต คงหนีไม่พ้น สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ยิ่งการประกาศเข้าลงทุนใน Bitcoin ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล จากกองทุนระดับโลกอย่าง ARK และบริษัทชั้นนำอย่าง Tesla ก็ยิ่งทำให้สินทรัพย์นี้เป็นที่รู้จักกันเป็นวงกว้างขึ้น จึงไม่แปลกที่เหล่านักลงทุนในปัจจุบันจะสนใจเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์นี้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพูดถึง “สินทรัพย์” สิ่งที่มาควบคู่กันก็คือ “ความเสี่ยง” ดังนั้นก่อนที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนก็ควรจะทำความเข้าใจก่อนว่า สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แท้จริงนั้นคืออะไร เราจะนำเสนอให้ได้เข้าใจกันในบทความนี้

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) คืออะไร

สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency คือ สกุลเงินที่นำมาเข้ารหัสเอาไว้เพื่อความปลอดภัย ที่มาของ Cryptocurrency มาจากการผสานกันระหว่างสองคำ คือ Cryptography (วิทยาการเข้ารหัส) และ Currency (สกุลเงิน) ที่ในปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสินทรัพย์ดังกล่าวสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของไม่ต่างจากสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) แต่ไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นสกุลเงินที่เราเห็นในโลกความจริง ธุรกรรมทุกอย่างจะเป็นตัวเลขบนคอมพิวเตอร์ และธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยบันทึกผ่านระบบ “Blockchain” ที่จะช่วยยืนยันธุรกรรมของเราว่าเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำได้อย่างปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปลอมแปลงได้ยาก ด้วยการใช้เครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (Decentralized System) ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็น สกุลเงินเสมือน (Virtual Currency) ได้เช่นกัน โดย Bitcoin คือ สกุลเงินดิจิทัลยุคแรกที่ถูกสร้างขึ้นและยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างทางนักพัฒนาหลายกลุ่มได้สร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย มีทั้งที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกัน หรือแม้แต่ต่างกันกับ Bitcoin ด้วย ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องลงลึกศึกษาจากเอกสารนำเสนอข้อมูล (Whitepaper) ของแต่ละโปรเจกต์ของเหรียญด้วยตัวเองก่อนจะลงทุนซื้อ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะถูกยอมรับให้อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ แต่ก็ยังไม่มีการรองรับให้เป็นเงินตราตามกฏหมายในหลายประเทศ (แต่ก็มีบางประเทศยอมรับให้เป็นเงินตราตามกฎหมายแล้วในปัจจุบัน อย่างเอลซัลวาดอร์) เพราะไม่มีหน่วยงานกลางในการควบคุมดูแล สินทรัพย์ดังกล่าวจึงมีความผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์อื่นเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องท้าทายในอนาคตว่าหากจะถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของแทนที่สกุลเงินทั่วไปในปัจจุบัน จะต้องพัฒนาไปในรูปแบบไหนเพื่อคงความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานสกุลเงินดิจิทัลนี้


หลักการทำงานของสกุลเงินดิจิทัล

จากที่กล่าวไปข้างต้นสกุลเงินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกลางใด ไม่มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการผลิตเหรียญ สกุลเงินดิจิทัล หรือ สกุลเงินเสมือนนี้ จะถูกบันทึกและทำงานอยู่บนระบบกระจายศูนย์ ที่เรียกว่า “Blockchain” ที่จะบันทึกหลักฐานข้อมูลไว้ว่าใครเป็นเจ้าของเหรียญนั้น เป็นการรับรู้ร่วมกันของคนในเครือข่าย (Peer) ซึ่งทุกคนในเครือข่ายเดียวกันจะรับรู้ได้ทั้งหมด กล่าวคือ ทุกคนในเครือข่าย สามารถเห็นยอดคงเหลือของทุกบัญชีได้ มาถึงตรงนี้เรามาดูหลักการทำงานของสกุลเงินดิจิทัลฉบับย่อกันดีกว่าว่ามันทำงานอย่างไร



โดยพื้นฐานแล้วหลักการทำงานของสกุลเงินดิจิทัล เมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้นจะมีการบันทึกข้อมูลลงในบล็อก และส่งสัญญาณไปมาหากันระหว่างเครือข่ายให้รับรู้ เพื่อรับรองความถูกต้องของธุรกรรมนั้น โดยข้อมูลแต่ละชุดจะมีการเข้ารหัสเอาไว้ โดยเราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า การบันทึกธุรกรรมแบบการกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology) พูดอีกนัยหนึ่งคือการบันทึกข้อมูลชุดเดียวกันหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน โดยในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ผู้ใช้จะต้องมีลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature)  อันประกอบไปด้วย Public key และ Private key ซึ่งเราจะมาพูดในเชิงการใช้งานโดยสังเขป Public key เปรียบเสมือนเลขบัญชีธนาคารที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน คุณสามารถแจกจ่ายทำสำเนาให้ใครก็ได้บนโลก ส่วน Private key เปรียบเสมือนรหัสผ่าน ลายเซ็น หรือลายนิ้วมือ ที่เจ้าของบัญชีควรเก็บรักษาให้ดี ไม่ให้ใครอื่นนอกจากตนล่วงรู้ กลับมาที่การทำธุรกรรม เราจะต้องใช้ Private key เพื่อเข้าสู่บัญชีของตัวเอง แล้วระบุ Public key ของบัญชีที่เราต้องการจะทำธุรกรรมปลายทาง ไม่ต่างอะไรจากการโอนเงินสกุลต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าทุกอย่างจะถูกบันทึกลงที่อยู่ในบล็อกในระบบ Blockchain ซึ่งทุกคนในเครือข่ายจะรับรู้ได้หมดว่าเกิดธุรกรรมนี้ขึ้นจากที่ไหน แล้วไปจบลงที่บัญชีไหน ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อรับรองความถูกต้องของธุรกรรม แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าธุรกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นในระบบเป็นของใคร เว้นเสียแต่การทำธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพบเจอกันโดยตรง


ประเภทของเหรียญสกุลเงินดิจิทัล

ปัจจุบันเหรียญที่ถูกนำมาลิสต์บนกระดานเทรดรวมไปถึงนอกกระดานเทรดมีมากกว่า 5 พันเหรียญเข้าไปแล้ว เพื่อให้เข้าใจถึงประเภทของเหรียญในระบบได้ง่ายขึ้น ทางผู้เขียนได้มีการแบ่งประเภทของแต่ละเหรียญบนโลกของสกุลเงินดิจิทัลออกเป็นดังนี้

  1. Bitcoin เรียกได้ว่าเป็นทองของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ อีกทั้งยังถือเป็นสกุลเงินแรกที่ถูกยอมรับให้เป็น Cryptocurrency ที่ใช้แทนเงินสดซื้อขายกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต คุณสมบัติของมันอย่างที่เรารู้กันคือมีการจัดการแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) ไร้ผู้ควบคุมกลาง มีอิสระในตัวเอง ไม่มีใครสามารถพิมพ์หรือผลิต Bitcoin ได้ เว้นเสียแต่การขุด (Mining) เท่านั้น โดยใน เอกสารนำเสนอข้อมูล (Whitepaper) ระบุไว้ว่า Bitcoin บนโลกนี้จะมีเพียง 21 ล้านเหรียญ เท่านั้น โดย Bitcoin สามารถแบ่งย่อยได้ถึง 8 หลักทศนิยม หน่วยที่เล็กที่สุดของ Bitcoin จะถูกเรียกว่า “Satoshi” เป็นการให้เกียรติผู้สร้าง Bitcoin นาม “Satoshi Nakamoto”

  1. Altcoin จากความสำเร็จของ Bitcoin ข้างต้น ทำให้ผู้พัฒนามากมายสนใจสร้างสกุลเงินดิจิทัลเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่หลากหลายออกไป จึงเป็นที่มาของเหรียญประเภทนี้ ที่ถูกนิยามให้แก่เหรียญใดใดก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นหลัง Bitcoin ไม่ว่าจะเป็น ETH , XRP , ADA , BNB ทั้งหมดที่ถูกเรียกว่า Altcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลทางเลือก ที่แต่ละเหรียญมีเอกลักษณ์และจุดยืนเป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเหล่านักลงทุนสนใจแนวทางของเหรียญไหนเป็นพิเศษ แต่พึงระวังไว้เสมอว่าเหรียญเหล่านั้นโปรเจกต์ในเอกสารอาจจะดูน่าสนใจ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นเพียงเหรียญหลอกหลวง หรือที่เราเรียกกันว่า Scam (ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์บนโลกสกุลเงินดิจิทัลเป็น Scam ทั้งหมด) นักลงทุนควรศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อเก็บไว้ทุกครั้ง

  1. Stablecoin คือ เหรียญที่มีมูลค่าผันผวนน้อยที่สุดในโลกของสกุลเงินดิจิทัล โดยเหรียญดังกล่าวจะพยายามคงมูลค่าของมันไว้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ USDT ที่มีมูลค่าอ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าของ 1 USDT จะมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์เสมอ

ในบทความนี้เราได้ทราบความหมายของ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) กันไปแล้ว ว่าคืออะไร หลักการทำงานเป็นแบบไหน และมีประเภทอะไรบ้าง หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์นี้ ก็อย่าลืมศึกษาโปรเจกต์ของเหรียญที่ตัวเองจะลงทุนให้ถี่ถ้วน เพื่อให้เราเข้าใจและจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ราคาของเหรียญ แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหรียญนั้นนำมาใช้ และแนวทางในการใช้เทคโนโลยีนั้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างจากเหรียญอื่นในตลาดแล้ว เหรียญนั้นอาจจะกลายอีกเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เทียบเท่ากับ Bitcoin ในตอนนี้ก็เป็นได้