Hans-Jakob Schindler ผู้อำนวยการอาวุโสขององค์กรโครงการต่อต้านลัทธิสุดโต่ง (Counter Extremism Project: CEP) ได้ออกมาเผยว่า รัฐบาลควรพัฒนาขั้นตอนการทำความรู้จักกับลูกค้า (Know Your Customer: KYC) สำหรับสื่อสังคมออนไลน์และบริการส่งข้อความต่าง ๆ พร้อมทั้งควรมีมาตรการที่รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อติดตามธุรกรรมสกุลเงินคริปโต

ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายพยายามตัดสินใจว่า สกุลเงินคริปโตจะมีอนาคตในระบบเศรษฐกิจหรือไม่ กลุ่มคนที่มีการนำคริปโตไปใช้เป็นกลุ่มแรก ๆ ซึ่งรวมถึงผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงกำลังใช้ประโยชน์จากจุดบอดของการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในขณะนี้ โดยความง่ายดายในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยการใช้สกุลเงินคริปโตหรือ Privacy Coin (สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาให้มีระบบปิดบังตัวตนของผู้ใช้งานไม่ให้รั่วไหลออกไป) กำลังกลายเป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่เกิดจากน้ำมือของคนทั่วโลกผ่านการเพิกเฉยของระบบราชการ

Schindler ระบุว่า สหรัฐอเมริกามีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพียงไม่กี่คนที่มีอำนาจในการติดตามและยึดคริปโตที่ถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ พวกเขาเหล่านี้ยังได้รับมอบหมายให้สืบสวนการใช้คริปโตในทางที่ผิดในทุกแง่มุมตั้งแต่การขู่กรรโชกสินทรัพย์และการฟอกเงินไปจนถึงการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยเช่นกัน

ซึ่ง Schindler เชื่อว่า การขาดความใส่ใจในปัญหาเหล่านี้อาจลดโอกาสในการพบเจอการใช้คริปโตในทางที่ผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อาชญากรเริ่มหันไปใช้ Privacy Coin ที่นำกระเป๋าเงินมาเข้ารหัส เช่น “Monero (XMR)” และในบางกรณีอาจรวมถึงธุรกรรมด้วย

Schindler ระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา องค์กร CEP ของเขาสามารถตรวจจับเว็บไซต์ชื่อกระฉ่อนที่สนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS) ได้ ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวมีการขอรับบริจาคเงินสนับสนุนผ่าน XMR เนื่องจากเหรียญดังกล่าวมีคุณสมบัติความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมากกว่า Bitcoin และในอีกหลายเดือนต่อมา เว็บไซต์ที่มีการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ก็ได้มีการรับบริจาคเงินเป็น XMR เช่นกัน พร้อมทั้งเผยแพร่วิธีซื้อเหรียญดังกล่าวผ่านเว็บมืดอีกด้วย

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีความสามารถขั้นสูงในการติดตามและยึดสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ก่ออาชญากรรม แต่เหรียญคริปโตเหล่านี้และ Privacy Coin ก็สร้างอุปสรรคทางเทคนิคที่ยังไม่มีประเทศไหนสามารถเอาชนะได้อย่างสมบูรณ์ โดยเทคโนโลยีการเข้ารหัส (Encryption) ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมักไม่สามารถทราบได้ว่า ใครกันแน่ที่ถือครอง Privacy Coin รวมไปถึงไม่อาจทราบได้ว่า จุดประสงค์ในการใช้งานเหรียญเหล่านี้คืออะไรด้วยเช่นกัน 

ในเดือนพฤษภาคมปี 2022 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกิจการของรัฐบาล (Committee on Homeland Security and Governmental Affairs) ของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา รายงานว่า “กรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service: IRS) ต้องสร้างความร่วมมือใหม่กับบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับการติดตามธุรกรรม Monero” และ “หน่วยงานกำกับดูแลแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ Privacy Coin โดยระบุว่า มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างสกุลเงินคริปโตที่โปร่งใสและธุรกรรมที่คลุมเครือมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสก็ยังไม่ได้สร้างกรอบการกำกับดูแลใหม่หรือให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือทางเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อลดอุปสรรคทางเทคนิคที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังเผชิญอยู่

นอกเหนือจากการวิเคราะห์บล็อกเชนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังควรพิจารณามาตรฐานสำหรับการสอดส่องธุรกรรมโดยอิงตามพฤติกรรมและข้อกำหนดด้านกฎระเบียบเพื่อทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้วย เนื่องจากผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีควรเป็นด่านป้องกันแรก ซึ่งการตรวจสอบโดยอิงตามพฤติกรรมของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตนั้นควรเน้นไปที่พฤติกรรมของผู้ถือกระเป๋าเงินและจดจำรูปแบบที่ไม่สอดกับพฤติกรรมปกติของผู้ใช้ หากเกิดรูปแบบพฤติกรรมที่น่าสงสัยดังกล่าว แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตก็ควรจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้เหล่านั้นเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มีความเสี่ยงจากการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรืออาชญากรรมทางการเงินอื่น ๆ จากผู้ใช้เหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้มากกว่าสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมซึ่งอาศัยข้อมูลที่ลูกค้าให้ไว้เป็นส่วนใหญ่ ในการที่จะทำให้เครื่องมืออันทรงพลังนี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงควรมีการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อกำหนดแนวทางในการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโต ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องข้อมูลของผู้ใช้อย่างเพียงพอด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น Schindler ยังได้แนะนำว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการส่งข้อความ และแพลตฟอร์มการระดมทุนต่าง ๆ ควรจะมีมาตรฐานที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับขั้นตอนการตรวจสอบเนื้อหาและ KYC เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการค้า เช่น ร้านค้าบนเว็บหรือแคมเปญการระดมทุน

ด้านคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ก็ได้แนะนำว่า ควรพิจารณาให้กระเป๋าเงินและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตแบบ Non-Custodial เป็นเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้นอกแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตควรถือเป็นสัญญาณที่ชี้ชัดถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายเสมอ ทั้งนี้ หากทางแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตไม่บังคับให้ผู้ใช้ที่ถือกระเป๋าเงินแบบ Non-Custodial เปิดเผยข้อมูลของพวกเขาอย่างครบถ้วนระหว่างทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋าเงินแบบ Non-Custodial ทางแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตเหล่านี้ก็ไม่ควรประมวลผลธุรกรรมดังกล่าว

Schindler กล่าวทิ้งท้ายว่า มีเพียงความร่วมมือของรัฐบาลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมคริปโต และมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเทคโนโลยีทางการเงินเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการทำให้ความเสี่ยงของสกุลเงินคริปโตและ Privacy Coin ที่ถูกนำไปใช้ในการจัดหาเงินทุนให้กับลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายลดลงได้อย่างมาก